ต้นแบบการรวมพลังทุกภาคส่วน

ตำบลคอรุม ต้นแบบการรวมพลังทุกภาคส่วน

ดร.สุวิทย์ ลงพื้นที่ภาคเหนือ ติดตาม อว.จ้างงาน เฟส 1 ชี้ผลลัพธ์ดีเกินคาด เร่งเปิดเฟส 2 กรกฎาคม 2563 นี้ เพื่อมุ่งพัฒนาธุรกิจชุมชน ที่ตำบลคอรุม ต้นแบบการรวมพลังทุกภาคส่วน

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 63 ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ และผู้บริหารกระทรวง อว. ได้เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อติดตามการทำงานของกระทรวง อว. ร่วมกับทางจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ท่านผู้บริหารหน่วยงานจากหลายภาคส่วนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ และร่วมประชุมโครงการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ อว.จ้างงานทั้งระยะที่ 1 และ 2 จนถึงโครงการใหญ่ในระยะที่ 3 คือ “โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย”

โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ได้กรุณารายงานถึงสภาพพื้นฐานของจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ มีเขื่อนสิริกิตติ์ที่ช่วยให้จังหวัดมีแหล่งน้ำ ประชาชน 70% ทำการเกษตร อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังมากที่สุดในประเทศ ที่สำคัญยังเป็นแหล่งผลไม้ที่มีชื่อเสียง มีผลผลิตหมุนเวียนออกมาตลอดทั้งปี เช่น ทุเรียน ลองกอง ลางสาด

ที่ผ่านมาในช่วงโควิดทางจังหวัดมีมาตรการป้องกัน และทีม อสม. ที่เข้มแข็ง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพียง 3 ราย และรักษาเป็นปกติแล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องของการทำงาน และเศรษฐกิจซึ่งทางจังหวัดได้มีการช่วยเหลือ เช่น แจกถุงยังชีพ 6,000 ครัวเรือน มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจปัญหาความต้องการของประชาชนถึงหมู่บ้าน

ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์นั้นแต่เดิมได้มีการทำงานร่วมกับชุมชน และส่วนราชการของจังหวัดอยู่ก่อนแล้ว ก็ได้เข้าร่วมโครงการ อว. จ้างงานตั้งแต่ระยะที่ 1 โดยมีการเตรียมคนพัฒนาทักษะที่จำเป็นก่อนส่งลงพื้นที่ต่อยอดพัฒนาท้องถิ่น มีการจัดทำฐานข้อมูลร่วมกับศูนย์จัดการนวัตกรรมในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ช่วยให้สามารถนำมาวางแผนการพัฒนาที่ถูกต้องตรงจุดได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ได้ร่วมกับอีก 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏสร้างระบบจัดการข้อมูลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น รวมเอางานด้านการพัฒนาในทุกสาขามาวิเคราะห์เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์จากล่างสู่บน ตรงกับความต้องการ และบริบทในพื้นที่อย่างแท้จริง

โดยหนึ่งในปัญหาที่เร่งด่วนขณะนี้คือความมั่นคงทางอาชีพที่บัณฑิตที่จะจบใหม่ไม่มีงานทำ บัณฑิตที่จบไปแล้วยังหางานไม่ได้ หรือคนทำงานที่ถูกเลิกจ้างจากผลกระทบของโควิด-19 จึงเป็นที่มาของโครงการ อว. จ้างงานทั้ง 2 ระยะ และ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการจะไม่เพียงแต่มีรายได้ มีงานทำ แต่จะได้รับการเสริมทักษะใน 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะดิจิทัล ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะด้านการเงิน และทักษะในการใช้ชีวิต
สำหรับในส่วนของโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยที่จะเกิดขึ้น ทางกระทรวงจะใช้เงินกู้ของรัฐบาล จ้างงาน 300,000 ตำแหน่ง เป็นเวลา 1 ปี เงินเดือน 15,000 บาท โดยจะมี 50,000 คนทำหน้าที่เก็บรวบรวม จัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อสร้างแผนที่ชุมชนหรือ community map ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้แก่ประเทศในการแก้ไขปัญหา พัฒนาท้องถิ่นอย่างตรงจุด และจากผลงานของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในตำบลคอรุมนี้ จะถูกนำไปเป็นโมเดลการสร้างฐานข้อมูลเพื่อขยายผลในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศต่อไป ภายใต้ concept สร้างความมั่นคงในมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งในชุมชนสร้างความเชื่อมโยงผ่านฐานข้อมูล