เปิดเสียงสะท้อนจาก EDUCA 2020 หนุนพลังคนรุ่นใหม่ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม

หนึ่งพลังสำคัญของการขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมในตอนนี้คือคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อประเด็นต่างๆ มากขึ้น จะเห็นได้ว่าหลายการเปลี่ยนแปลงถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมด้วยพลังของเยาวชน จึงสะท้อนออกมาเป็นโจทย์ที่ภาคส่วนต่างๆ ต้องหันมาสนใจศักยภาพของคนรุ่นใหม่ท่ามกลางบริบทที่ไม่เหมือนเดิม อันครอบคลุมถึงวงการการศึกษาด้วยเช่นกัน

ในมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูครั้งที่ 13 หรือ EDUCA 2020  ที่จัดโดยบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ซึ่งปีนี้เปลี่ยนรูปแบบงานมาสู่ออนไลน์ ได้จัด Live ฟอรั่มครูใหญ่จากกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principal Forum: TPF) หัวข้อ โลกหมุนไป ครูใหญ่หมุนตามประสานพลังคนรุ่นใหม่ สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยได้ฉายภาพให้เห็นถึงการดำเนินงานมิติต่างๆ ของคนในแวดวงการศึกษาที่มีต่อคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างจากอดีตสู่ระบบการศึกษาสูงประสิทธิภาพ 

ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ท่ามกลางโจทย์ที่ท้าทายทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคม การศึกษายังคงเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างอนาคตของประเทศ ระบบการศึกษาสูงประสิทธิภาพต้องสร้างความยอดเยี่ยมในด้านผลการเรียนรู้ โอกาสการเรียนรู้ที่มีความเท่าเทียม และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเมื่อ 50 กว่าปีก่อน มีตัวอย่างโรงเรียนที่จัดการศึกษาสูงประสิทธิภาพ คือ โรงเรียนมัธยมสาธิตวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน ซึ่ง รศ.คุณหญิง สมจิตต์ ศรีธัญญรัตน์ อาจารย์ใหญ่ในขณะนั้นมีมุมมองว่ากิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นเรื่องจำเป็น จึงจัดให้มีชุมนุมวิชาการ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้วิชาต่างๆ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยไมใช่เปิดโอกาสให้เพียงนักเรียนจำนวนน้อย หรือเพื่อการแข่งขันหาชื่อเสียงของโรงเรียน แต่ให้นักเรียนทั้งหมดได้มีส่วนร่วม

นอกจากนั้น โรงเรียนได้จัดชุมนุมต่างๆ เพื่อส่งเสริมความสนใจและความสามารถของนักเรียน โดยมีครูที่ปรึกษาซึ่งมีความรู้ ความสนใจ ประสบการณ์ และทัศนคติที่ถูกต้อง ชุมนุมต่างๆ ที่จัดขึ้นมีเป้าหมายช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจและมีความภาคภูมิใจในความสามารถของตน ทั้งนั้น เด็กเป็นกลุ่มสำคัญของสังคม และโรงเรียนก็มีหน้าที่และบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ จึงเป็นเรื่องที่น่ามองต่อไปว่าจากประสบการณ์ในอดีตเหล่านี้ เราจะช่วยกันสร้างสรรค์การจัดการศึกษาที่ดีในปัจจุบันเพื่ออนาคตของประเทศได้อย่างไร

Youth in Charge แพลตฟอร์มเพื่อคนรุ่นใหม่ 

ด้วยความตั้งใจในการหาพื้นที่ให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและปลดปล่อยศักยภาพอย่างเต็มที่ จึงเกิดแพลตฟอร์ม Youth in Charge โดยผู้ก่อตั้ง เอริกา เมษินทรีย์ บอกว่ามีฟังก์ชั่นการทำงานหลัก ด้าน คือ จัดตั้ง Academy ที่เป็นเหมือน Learning Station ให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแชร์และสร้างหลักสูตรที่เยาวชนควรรู้ ซึ่งเรียกว่า Master Class ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการออกแบบหลักสูตรที่น่าสนใจ อย่างเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และการป้องกันการ Bully 

 

เรายังทำงานร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ และภาคเอกชน ในการจัด Symposium ชวนเยาวชนมานำเสนอแนวคิดและแลกเปลี่ยนมุมมองที่สำคัญต่ออนาคตของพวกเขา โดยมีการจัด Symposium อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นจะรวบรวมข้อเสนอต่างๆ ของเยาวชนไปนำเสนอใน Youth in Charge Summit ที่จะเกิดขึ้นปลายปีหน้า ซึ่งเราหวังว่าภาคส่วนต่างๆ จะนำแนวคิดของคนรุ่นใหม่ไปต่อยอดสู่นโยบายหรือแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

ออกแบบโรงเรียนที่ทุกคนรับฟังกัน 

อ.ภูริทัต ชัยวัฒนกุล ครูใหญ่ฝ่ายมัธยม โรงเรียนเพลินพัฒนา กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของครูคือผลักดันให้นักเรียนเกิดศักยภาพมากที่สุด ซึ่งต้องลบตัวกวนที่เป็นอุปสรรค นั่นคือความรุนแรงหรือการรังแกกัน ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงให้เกียรติคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเด็ก เพื่อให้เด็กได้เติบโตทั้งความรู้และความคิด ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการรับฟังกัน ไม่ว่าจะเป็นครูใหญ่ฟังครู หรือครูฟังเด็ก เพราะการรับฟังกันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ไม่เกิดความรุนแรงในโรงเรียน แต่ต้องเป็นการรับฟังแล้วนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือหาทางออกด้วย

ครูต้องออกแบบสภาพแวดล้อมที่นักเรียนกล้าพูดในสิ่งที่เป็นปัญหาและสิ่งที่อยากแก้ปัญหา หรือเรียกได้ว่าให้เด็กได้ออกแบบโรงเรียนแห่งความสุขของตัวเอง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เด็ก อย่าไปบล็อกเขา ต้องรับฟัง และช่วยตั้งคำถาม เพื่อให้เขาคิดได้รอบด้านมากขึ้น นอกจากนั้น ควรพัฒนาเด็กให้มีทักษะการสื่อสาร การเข้าสังคม และการป้องกันตัวเอง เพื่อเป็นปราการไม่ให้พวกเขาถูกตกเป็นเหยื่อของการรังแกหรือความรุนแรงในสังคม 

เปิดพื้นที่ให้เด็กมีบทบาททั้งวิชาการและกิจกรรม 

อ.วสันต์ ปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองกระบี่ ให้ความเห็นว่า เพราะโรงเรียนเป็นเหมือนสังคมจำลองที่ให้เด็กได้เรียนรู้ก่อนออกเผชิญหน้ากับสังคมที่แท้จริง จึงต้องฝึกให้พวกเขาได้มีทักษะการคิดและตัดสินใจ ซึ่ง ร.ร.เมืองกระบี่มีการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการ ชื่อว่า หนึ่งห้องเรียน หนึ่งแผนการเรียนรู้ โดยให้ครูและนักเรียนได้ร่วมกันคิดและออกแบบกิจกรรมต่างๆ ที่ขับเคลื่อนในรูปแบบของโครงงาน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ประเด็นที่สนใจจริงๆ

ไม่เพียงเท่านั้น เราได้ส่งเสริมบทบาทของนักเรียนผ่านการจัดตั้งสภานักเรียน มีการประชุมกันเดือนละครั้งทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อให้ครูได้รับฟังมุมมองของเด็กว่าพวกเขามีข้อเสนอเรื่องอะไรบ้าง หลังจากนั้น โรงเรียนจะนำเรื่องเหล่านั้นมาปรับปรุงหรือแก้ไข แล้วอัปเดทความคืบหน้าเป็นระยะ ซึ่งการดำเนินงานรูปแบบนี้    ทำให้เราเห็นพลังบวกจากพวกเขาเยอะมากๆ ผลลัพธ์สำคัญที่ได้คือ การทำงานร่วมกันระหว่างครูใหญ่ ครู และนักเรียน ทำให้เด็กรู้สึกถึงความเป็นครอบครัว ส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมเชิงบวกตามมา

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

แนะครูเข้าใจและปรับตัวให้ทันบริบทสังคม 

สำหรับมุมมองของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นั้นเห็นว่า โลกมีความซับซ้อนและไม่แน่นอน การสร้างเด็กต้องเปลี่ยนไป เพราะจากเดิมที่โรงเรียนเคยเป็นโลกของเด็กๆ แต่ตอนนี้พวกเขาเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ กล่าวได้ว่าตอนนี้แพลตฟอร์มการเรียนรู้มีทั้งในและนอกห้องเรียน จึงเป็นโจทย์ของโรงเรียนว่าจะทำอย่างไรในการทำให้สองแพลตฟอร์มนี้อยู่ด้วยกัน เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้จากทั้งสองด้านได้อย่างสมดุล  

ครูจะต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น ด้วยการเปิดหูเปิดตา เปิดใจรับฟัง พร้อมเข้าใจ และเปิดโอกาส ซึ่งการถักทอความหลากหลายต่างๆ ของสังคมต้องอาศัยความคิดของคนรุ่นใหม่ ผมเชื่อว่าถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยน แต่จิตวิญญาณความเป็นครูของครูยังคงอยู่ สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือควรเข้าใจบริบทของสังคมและก้าวตามให้ทัน เพื่อเป็นครูผู้สร้างชาติอย่างแท้จริง

เด็กและเยาวชนกล้ากำหนดอนาคตด้วยตัวเอง 

ปิดท้ายที่ รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ประธานกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principal Forum: TPF) และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา กล่าวว่า จากประสบการณ์พบว่านักเรียนทุกคนอยากพูดและอยากแสดงออกถึงความคิดเห็นของพวกเขา อีกทั้งอยากมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขาควรได้มีโอกาสเลือกและกำหนดอนาคตของตัวเอง อย่างไรก็ดี เพราะเด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของครูและครูใหญ่ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องรับฟังเสียงของพวกเขา เข้าไปดูแลว่าพวกเขาต้องการอะไร และจะทำอย่างไรเพื่อสามารถเดินไปด้วยกันได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้แม้แต่คนเดียว  

ท่านเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนที่ทำให้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่ได้ก้าวมามีบทบาทต่อทิศทางของชีวิตตัวเองและกระแสสังคม ซึ่งในวงการการศึกษาก็ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิ์และเสียงที่ทรงพลังของเด็กและเยาวชนเช่นกัน เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับสร้างสรรค์ประเทศและโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ที่มา https://bit.ly/2JIsM95

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ReinventingUniversity/?_rdc=1&_rdr