อว. ร่วมกับ บริติช เคานซิล ผลักดันมหาวิทยาลัยไทยให้ติดอันดับโลก เป็นทางเลือกให้คนไทยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ในช่วงที่การเดินทางข้ามประเทศยังไม่แน่นอนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่ละปีมีจำนวนผู้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักสูงกว่าปีละ 15,000 คน หนึ่งในเหตุผลหลักคือ แสวงหามหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่มีชื่อเสียงเฉพาะด้านติดอันดับโลก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักอยู่ในแถบทวีปยุโรปและอเมริกา แต่ท่ามกลางสถานการณ์การเดินทางข้ามประเทศที่ยังไม่แน่นอนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลไทยจึงเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันมหาวิทยาลัยไทยไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เพื่อเป็นทางเลือกให้คนไทยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ แต่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไทยซึ่งมีชื่อเสียงติดอันดับโลกได้
จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง “บริติช เคานซิล” และ “สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” (สป.อว.) ในการทำโครงการ “ความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร” (Thai-UK World-class University Consortium) เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักร ในการสร้างกลไกและสนับสนุนความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาไทย ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย ระบบโครงสร้างและการบริหารงาน และระบบนิเวศของสถาบันอุดมศึกษาในด้านต่าง ๆ ตั้งเป้าผลักดันมหาวิทยาลัยไทยไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 100 อันดับแรก และได้รับการยอมรับในสถานะการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ
“ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล” รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรมากกว่า 11 ล้านคนที่อายุเกินกว่า 60 ปี และจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี 2578
ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ซึ่งการพัฒนาโครงการด้านการศึกษาเป็นหนึ่งในหนทางการสร้างสังคมที่ดีและมีประสิทธิผล ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จึงเดินหน้าร่วมมือในโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ในปี 2564-2565
เพื่อยกระดับมมหาวิทยาลัยไทย โดยการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกในสหราชอาณาจักร ในรูปแบบโครงการพัฒนาศักยภาพและการประสานให้เกิดความร่วมมือในขั้นต้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ โดยรูปแบบของความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร โครงการวิจัยร่วม โครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วม โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก โครงการอบรมนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรม เสริมสร้างคุณภาพงานวิจัย การพัฒนาบุคลากร และการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกและงานวิจัยชั้นนำมากมาย โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 20 สถาบัน ติด 200 อันดับแรกของโลก จากการจัดอันดับของ Times Higher Education World university Ranking 2021 เช่ย มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อิมพีเรียลคอลเลจ และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL)
ดังนั้น สหราชอาณาจักรจึงนับเป็นพันธมิตรที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในกลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย ผ่านการผนึกกําลังการทํางานในรูปแบบของ “จตุรภาคี” (quadruple helix) ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ชุมชน ภาคอุตสาหกรรม และพันธมิตรระหว่างประเทศ โดยเป้าหมายหลักของไทยคือ มีมหาวิทยาลัยไทยก้าวไปสู่ 100 อันดับแรกของโลกให้ได้ภายใน 5-10 ปี
ด้าน “เฮลก้า สเตลมาเกอร์” ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรนานาชาติเพื่อการสนับสนุนความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ตั้งเป้าสนับสนุนยุทธศาสตร์ ‘พลิกโฉมมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย’ ของกระทรวง อว. ผ่านการเปิดตัวโครงการ Thai-UK World-class University Consortium เพื่อผลักดันการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยสู่ความเป็นสากลผ่านการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ สร้างความเป็นเลิศทางการเรียนการสอน สร้างความร่วมมือในสาขาวิชา และสร้างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร
สำหรับสถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับโอกาสในการยกระดับขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาขีดความสามารถของนักเรียนและบุคลากร โครงการวิจัยร่วม การศึกษาข้ามชาติ หรือการพัฒนาวิชาชีพ โดยเรามุ่งมั่นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใน 8 สาขาวิชาเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ได้แก่ สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ วิศวกรรมเคมี วิทยาศาสตร์ชีวภาพ การเกษตรและป่าไม้ การแพทย์ ภูมิศาสตร์ หลักสูตรพัฒนศึกษา และรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ที่มา https://bit.ly/3uaw7ir
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ReinventingUniversity/?_rdc=1&_rdr