จุดเริ่มต้นของโครงการ

ในการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของประเทศที่มุ่งเน้นเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้เป็นแบบใหม่ เพื่อให้ประเทศได้มีโอกาสพัฒนาเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งโมเดลนี้จะสำเร็จได้ต้องใช้แนวทางสานพลัง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนประชาชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

อุดมศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพ และความสามารถระดับสูงในสายวิชาการระดับมันสมอง (Brainpower) และวิชาชีพด้านต่าง ๆ (Manpower) ซึ่งในปัจจุบันพบว่า กำลังคนระดับสูงที่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของประเทศยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงความต้องการผลการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตไปจนถึงการสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการจำนวนมาก อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

แนวคิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษา

Re-Orientation

การกำหนดทิศทางของระบบอุดมศึกษาใหม่ ปรับทิศทาง บทบาท ความรับผิดชอบ สถานะกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อรองรับบริบทของโลกและของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป

Re-Profiling

การปรับยุทธศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษา การประเมินตนเอง กระบวนการพัฒนาตนเองตามยุทธศาสตร์เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถนำเอาจุดเด่น และศักยภาพความเข้มแข็งใน 4 พันธกิจหลักมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศทั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างยั่งยืน

Re-Structure

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตกำลังคน การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงสร้างบุคลากรและการบริหารงานบุคคล โครงสร้างต้นทุน รายได้ ค่าใช้จ่ายในระบบอุดมศึกษา โครงสร้างการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน กับสถาบันอุดมศึกษาในฐานะเป็น Service Provider ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ตอบสนองภาคผู้ผลิตในฐานะผู้ใช้ผลผลิตที่เกิดจากสถาบันอุดมศึกษา เพื่อบูรณาการให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานอย่างมีเอกภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่มีคุณภาพทั้งในเชิงนโยบายและคุณภาพอุดมศึกษา

Re-Organization

การจัดองค์กรเพื่อการบริหารระบบอุดมศึกษาใหม่ โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล กำหนดนโยบาย มาตรฐาน การจัดสรรทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลอุดมศึกษา การสร้างความเป็นอิสระในการบริหารจัดการภายในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้การขับเคลื่อนศักยภาพอุดมศึกษาใหม่ เป็นกลไกส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มขีดความสามารถและศักยภาพบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล

การนำแนวคิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษาทั้ง 4 เรื่องสู่การปฏิบัติ

เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งได้ใช้ความสามารถและศักยภาพของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ การปฏิรูประบบอุดมศึกษาจะใช้วิธีการกำหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 4 กลุ่ม เรียกว่า

การกำหนดกลุ่มอุดมศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic focus) ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงระบบของรัฐในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ต้องอาศัยทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและทักษะที่จำเป็นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และทิศทางการพัฒนาอุดมศึกษาตามกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี ภายใต้จุดเด่นและศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาด้วยการสนับสนุนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเชิงยุทธศาสตร์เป็นการขับเคลื่อนเชิงระบบเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาให้ขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางที่ต้องการ

สถาบันอุดมศึกษาต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการสถาบันให้มีประสิทธิภาพมีเป้าหมายที่ชัดเจน ใช้หลักธรรมาภิบาล มีระบบประกันคุณภาพการจัดการศึกษา การมีส่วนร่วมของบุคลากร และการทำงานแบบร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการจัดการศึกษา ทั้งนี้การดำเนินงานการกำหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (University Re-positioning Building Block)

 

โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน 3 เรื่องหลักคือ

การกำหนดกลุ่มอุดมศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Focus)

 โดยพิจารณาผลการดำเนินงาน (Performance) และศักยภาพ (Potential) ของสถาบันที่เป็นอยู่หรือมีอยู่แล้ว มีลักษณะบ่งบอกถึงกลุ่มสถาบัน (Differentiator) และรวมถึงระดับกลุ่มสาขาวิชา โดยให้คณะกรรมการส่วนกลางและคณะกรรมการของสถาบันอุดมศึกษาพิจารณาประเมินเพื่อทราบว่าเป็นกลุ่มประเภทใด

การขับเคลื่อนเชิงระบบ (System Drivers)

เพื่อสนับสนุนทิศทางการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นระบบ มีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย

1) ระบบประกันคุณภาพในอนาคต (Quality Management Framework)

2) เงินสนับสนุนการจัดการศึกษา พิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาโดยใช้วิธี Value-based Finance

3) ระบบธรรมาภิบาล (Governance and Accountability)

4) การมีส่วนร่วมของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (Workforce Engagement)

5) รูปแบบการทำงานแบบร่วมมือกัน (Collaboration Facilitation Platform)

การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตามจุดเน้น (Re-positioning Plan)

ที่เหมาะสมกับสถาบันอุดมศึกษาโดยกระบวนการ สร้าง เพิ่ม ลด ตัดออก ไปสู่การปิด การปฏิรูปเปลี่ยนแปลง หรือการสร้างโดยทำเป็นข้อตกลงการดำเนินงาน (Performance Agreement) ด้วยการสนับสนุนของหน่วยงานต้นสังกัด